วันพุธที่ 14 มีนาคม พ.ศ. 2561

#โง่เขลาเบาปัญญา❗ กระท่อม สรรพคุณทางยา ไม่ใช่มองแค่ ยาเสพติด !!!

#โง่เขลาเบาปัญญา❗ เพราะหลงบ้าเชื่อตามฝรั่งว่ากระท่อมเป็นยาเสพติด จึงขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติด ทั้งที่ความจริงกระท่อมเป็นทั้งอาหารและยาสามัญประจำบ้าน ที่ทำให้มีเรี่ยวแรงกระชุ่มกระชวย ดีกว่าดื่มเครื่องดื่มชูกำลังมากมายนัก กินแล้วก็มุ่งทำงาน ไม่เกะกะระรานใคร อารมณ์ดีทั้งวัน จะกลัวบ้างก็ฝนตกเท่านั้นเอง แดดร้อน แดดจ้าอย่างไรก็ไม่กลัว แต่เพราะเชื่อฝรั่งว่าเป็นยาเสพติด จึงขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติด และเที่ยวไล่ตัด ไล่ทำลายต้นกระท่อม ที่ผู้คนเขาปลูกและกินกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษจนเหี้ยนเตียนเกือบหมดทั้งประเทศ มาถึงวันนี้ผลการศึกษาวิจัยชัดเจนว่ากระท่อมไม่ใช่ยาเสพติด มิหนำซ้ำ ญี่ปุ่นก็ไปขึ้นทะเบียนเป็นเจ้าของกระท่อมไปแล้ว และเป็นเจ้าของผลผลิตทั้งหลายที่เกี่ยวกับกระท่อมไปแล้ว ทีนี้พี่ไทยจะว่าอย่างไรละครับ? ได้เวลาที่จะต้องสำรวจผลงานความโง่เขลาของการเมืองในระบอบประชาธิปไตยแบบขี้ข้าฝรั่ง แล้วสำรวจว่าได้ทำอะไรโง่เขลาเบาปัญญาทำลายทรัพย์สินและภูมิปัญญาของชาติไปแค่ไหนแล้ว จะได้ฟื้นฟูเสียให้ทันท่วงที.. ขอบคุณบทความจาก..พิสมัย เหล่าจินดา
#ใบกระท่อม สรรพคุณทางยา ประโยชน์และโทษ กระท่อม ในประเทศไทยมีการนำมาใช้เป็นยาแก้โรคบิด ท้องร่วง และปวดมวนท้อง และบางพื้นที่กล่าวกันต่อมาว่าสามารถบรรเทาโรคเบาหวานได้ ชาวนานิยมบริโภคโดยการเคี้ยวใบสด หรือเอาใบมาย่างให้เกรียมและตำผสมกับน้ำพริกรับประทานเป็นอาหาร เพื่อให้มีแรงทำงานและสามารถทนตากแดดอยู่กลางแจ้งได้เป็นเวลานานโดยไม่รู้สึกเหนื่อย ชาวมลายูใช้ใบกระท่อมตำพอกแผล และใช้ทั้งใบเผาให้ร้อนวางบนท้องรักษาโรคม้ามโต ตลอดจนใช้กระท่อมเพื่อทดแทนฝิ่นในท้องที่ซึ่งหาฝิ่นไม่ได้ และบ่อยครั้งมีการใช้ใบกระท่อมเพื่อควบคุมการติดฝิ่น โดยเฉพาะในประเทศนิวซีแลนด์ในปัจจุบัน กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นที่มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า มิตราไจนา สเปซิโอซา คอร์ท (Mitragyna Speciosa Korth) จัดอยู่ในตระกูล รูเบียซีอี (Rubiaceae) มีถิ่นกำเนิดในเขตร้อนชื้นแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทย มาลายู จนถึงเกาะนิวกินีด้วย ที่พบในประเทศไทยมีอยู่ ๓ พันธุ์ คือ แตงกวา (ก้านเขียว) ยักษาใหญ่ (รูปใบใหญ่) และก้านแดง มีชื่อเรียกแตกต่างกันไปในแต่ละที่ เช่น ในประเทศไทย ภาคเหนือเรียกอีด่าง อีแดง กระอ่วม ภาคใต้ เรียกท่อม หรือท่ม ในมลายูเรียกคูทุม (Kutum) หรือ คีทุมเบีย (Ketum Bia) หรือ เบียก (Biak) ลาวเรียก ไนทุม (Neithum) อินโดจีน เรียก โคดาม (Kodam) กระท่อมจัดเป็นยาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ชนิดเดียวกับกัญชา ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 มาตรา 7 ชื่อวิทยาศาสตร์ Mitragyna speciosa Korth. วงศ์ Rubiaceae ชื่ออื่นๆ ท่อม อีถ่าง ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ กระท่อมเป็นไม้ยืนต้นขนาดใหญ่ปานกลาง มีแก่นเป็นไม้เนื้อแข็ง สูง10 -15 เมตร อยู่ในตระกูล Mitragyna speciosa ใบคล้ายใบกระดังงา
มีชนิดก้านใบแดงและใบเขียว ดอกกลมโตขนาดเท่าผลพุทรา ใบเป็นใบเดี่ยวสีเขียว เรียงตัวเป็นคู่ตรงข้าม แผ่นใบขนาดกว้างประมาณ 5-10 ซม. ยาวประมาณ 8-14 ซม. ดอกมีสีขาวอมเหลืองออกเป็นช่อตุ้มกลมขนาด 3-5 ซม. แหล่งที่พบ ในบางจังหวัดของภาคกลาง เช่น ปทุมธานี แต่จะพบมากในป่าธรรมชาติบริเวณภาคใต้ เช่น สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ตรัง สตูลพัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และตอนบนของประเทศมาเลเซีย
สารสำคัญที่พบในใบกระท่อม ใบกระท่อมประกอบด้วยแอลคะลอยด์ทั้งหมดประมาณร้อยละ ๐.๕ ในจำนวนนี้เป็นมิตราไจนีน (Mitragynine) ร้อยละ ๐.๒๕ ที่เหลือเป็น สเปโอไจนีน (Speciogynine) ไพแนนทีน (Paynanthine) สเปซิโอซีเลียทีน (Speciociliatine) ตามลำดับ ซึ่งชนิดและปริมาณแอลคะลอยด์ที่พบแตกต่างกันตามสถานที่ และเวลาที่เก็บเกี่ยว ซึ่งแบ่งตามสูตรโครงสร้างได้สารประกอบ ๔ ประเภท คือ อินโดลแอลคะลอยด์ (Indole Alkaloids) ออกอินโดลแอลคะลอยด์ (Oxindole Alkaloids) ฟลาวานอยด์ (Elavanoids) กลุ่มอื่น ๆ เช่น ไฟโตสเตอรอล (Phytosterol), แทนนิน (Tannins) อาการของผู้ติดใบกระท่อม มีลักษณะคล้ายกับแอมเฟตามีน คือ เบื่ออาหาร ทำงานได้มากเกินปกติ ตื่นเต้น เพราะประสาทถูกกระตุ้น แต่ยังไม่เคยมีรายงานผู้เสพติด ใบกระท่อมก่อปัญหาอาชญากรรมหรืออุบัติเหตุ เหมือนที่ได้รับรายงานกรณีผู้เสพติดแอมเฟตามีน #วิธีเสพ เคี้ยวใบสดหรือบดใบแห้งให้เป็นผง ละลายน้ำดื่ม บางรายเติมเกลือด้วยเล็กน้อยเพื่อป้องกันท้องผูก ส่วนมากจะเคี้ยวเพียง 2-3 ใบ และดื่มน้ำอุ่น หรือกาแฟร้อนตาม ใช้วันละ 3-10 ครั้งต่อวันตามอาการเหนื่อย เมื่อใช้ไประยะหนึ่ง ปริมาณการใช้จะเพิ่มขึ้น (ประมาณร้อยละ 37 ใช้วันละ 21-30 ใบ) ผลจากการเสพ พบว่าหลังเคี้ยวใบกระท่อมไปประมาณ 5-10 นาที จะมีอาการเป็นสุข กระปรี้กระเปร่า ไม่รู้สึกหิว (ไม่อยากอาหาร) กดความรู้สึกเมื่อยล้าขณะทำงาน ทำให้สามารถทำงานได้นาน และทนแดดมากขึ้น แต่จะเกิดอาการกลัวหนาวสั่นเวลาอากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝน ผู้เสพจะมีผิวหนังแดงเพราะเลือดไปเลี้ยงผิวหนังมากขึ้น อาการข้างเคียง ได้แก่ ปากแห้ง ปัสสาวะบ่อย เบื่ออาหาร ท้องผูก อุจจาระแข็งเป็นก้อนเล็กๆ นอนไม่หลับ ถ้าเสพใบกระท่อมในปริมาณมากๆ จะทําให้มึนงง และคลื่นไส้อาเจียน (เมากระท่อม) แต่ในบางรายเสพเพียง 3 ใบ ก็ทำให้เมาได้ ในรายที่เสพใบกระท่อมมากๆ หรือเป็นระยะเวลานาน มักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของเม็ดสีขึ้นที่บริเวณผิวหนัง ทำให้ผู้ที่รับประทานมีผิวคล้ำและเข้มขึ้น และยังพบอีกว่าเสพกระท่อมโดยไม่ได้รูดเอาก้านใบออกจากตัวใบก่อน อาจจะทำให้เกิดอาการที่เรียกว่า “ถุงท่อม” ในลำไส้ได้ เนื่องจากก้านใบและใบของกระท่อมไม่สามารถย่อยได้ จึงตกตะกอนติดค้างอยู่ภายในลำไส้ ทำให้ขับถ่ายออกมาไม่ได้ เกิดพังผืดขึ้นมาหุ้มรัดอยู่โดยรอบก้อนกากกระท่อมนั้น ทำให้เกิดเป็นก้อนถุงขึ้นมาในลำไส้ บางรายจะมีอาการโรคจิตหวาดระแวง เห็นภาพหลอน คิดว่าคนจะมาทำร้ายตน และพูดไม่ค่อยรู้เรื่อง #อาการขาดยา ที่พบ คือ จะไม่มีแรง ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและกระดูก แขนขากระตุก รู้สึกอ่อนเพลีย ไม่สามารถทำงานได้ อารมณ์ซึมเศร้า จมูกแฉะ น้ำตาไหล บางรายจะมีท่าทางก้าวร้าว แต่เป็นมิตร (Hostility) นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ซึ่งตรงกับข้ามกับอาการขาดยาแอมเฟตามีนที่จะทำให้รู้สึกง่วงนอนมาก หิวจัด และมือสั่น สรุปได้ว่า พืชกระท่อมมีสารแอลคะลอยด์ Mitragynine อยู่ในใบ มีฤทธิ์ระงับอาการปวด เช่นเดียวกับมอร์ฟีน
โดยมีความแรงต่ำกว่ามอร์ฟีนประมาณ ๑๐ เท่า และมีข้อดีกว่ามอร์ฟีนอยู่หลายประการ ดังนี้ กระท่อมไม่กดระบบทางเดินหายใจ ไม่ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน พัฒนาการในการติดยาเกิดช้ากว่ามอร์ฟีนหลายปี ไม่มีปัญหาเรื่องอาการอยากได้ยา (Craving) จึงไม่มีกรณีผู้ติดกระท่อม ก่อเหตุร้ายหรือพัวพันกับอาชญากรรมใดเลย อาการขาดยาไม่ทรมานเท่ามอร์ฟีน และสามารถบำบัดได้ง่ายกว่ายากล่อมประสาท ระยะ ๒ – ๓ สัปดาห์ ขณะที่ผู้ติดมอร์ฟีนอาจต้องพึ่ง Mitragynine ซึ่งเป็นสารเสพติดเช่นเดียวกัน เป็นเวลานาน ๓ เดือนขึ้นไป การควบคุมทางกฎหมาย ไม่มีสนธิสัญญาที่เป็นข้อตกลงระหว่างประเทศห้ามการปลูกเหมือนฝิ่น ใช้บำบัดอาการติดฝิ่นหรือมอร์ฟีนได้
#สรรพคุณทางยา สมัยโบราณ กระท่อมเป็นพืชที่ใช้เข้าเป็นตัวยาในตำรับพวกประเภทยาแก้ท้องเสีย ปวดเบ่ง ปวดเมื่อยตามร่างกาย ท้องเสีย ท้องเฟ้อ ท้องร่วง ทำให้นอนหลับ และระงับประสาท ในมุมมองของแพทย์แผนไทยส่วนใหญ่ จะนำพืชใบกระท่อมมาใช้เป็นยารักษาแก้ท้องร่วง ในสูตรยาของหมอพื้นบ้านหรือหมอแผนโบราณ เช่น ตำรับยาประสะกระท่อม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาขนาดนี้แล้ว เพราะมียาแผนปัจจุบันและแผนโบราณให้ผลเท่าเทียมหรือดีกว่าอีกทั้ง แม้ใบกระท่อมให้ผลการออกฤทธิ์ที่อาจมีประโยชน์ทางยาได้ แต่ทำให้เสพติดและมีผลเสียต่อสุขภาพ หากใช้ติดต่อกันนานๆ การนำใปใช้ในทางที่ผิด ปัจจุบันใบกระท่อมมีปัญหาการแพร่ระบาดในกลุ่มวัยรุ่นและนักเรียน อาจเนื่องมาจากมีราคาถูกและทำให้เกิดอาการเคลิบเคลิ้มได้เช่นเดียวกับสารเสพติดอื่น โดยมักนิยมนำน้ำกระท่อมต้ม ผสมกับโค้ก ยากันยุง และยาแก้ไอ (4×100)
#การควบคุมตามกฎหมาย ปี พ.ศ. 2486 ประเทศไทยเป็นประเทศแรกที่ประกาศควบคุมการใช้พืชกระท่อม โดยตราพระราชบัญญัติพืชกระท่อม พ.ศ. 2486 ระบุห้ามปลูกและครอบครองรวมทั้งห้ามจำหน่ายและเสพใบกระท่อม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 กระท่อมเป็นพืชเสพติดให้โทษประเภท 5 ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 – 5 ปี และปรับตั้งแต่ 20,000 – 150,000 บาท ครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ การควบคุมในต่างประเทศ สหประชาชาติ(UN) จะยังมิได้มีการประกาศควบคุมพืชกระท่อมในบัญชีรายชื่อยาเสพติดหรือวัตถุออกฤทธิ์ตามอนุสัญญาระหว่างประเทศ แต่จาก World drug report 2013 ของสำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ได้มีการขอความร่วมมือให้ประเทศสมาชิกเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ของสารออกฤทิ์ตัวใหม่ๆ ซึ่งมีพืชกระท่อมรวมอยู่ด้วย ซึ่งจากการสืบค้นข้อมูลพบว่าประเทศในยุโรป เช่น เดนมาร์ก ลัตเวีย ลิทัวเนีย โปแลนด์ โรมาเนีย สวีเดน มีการควบคุมพืชกระท่อม สาร mitragynine และ 7-hydroxymitragynine สำหรับออสเตรเลีย พม่า รวมถึงไทย มีการควบคุมพืชกระท่อมภายใต้กฎหมายที่เกี่ยวกับยาเสพติด ส่วนนิวซีแลนด์ ควบคุมพืชกระท่อม และสาร mitragynine ภายใต้กฎหมาย Medicines Amendment Regulations จาก World drug report 2013 ของสำนักงานควบคุมยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ให้ข้อมูลการแพร่ระบาดของพืชกระท่อมว่า พืชกระท่อมมีการใช้อย่างแพร่หลายในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีการรายงานการใช้ในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งในปี ค.ศ. 2011 ยุโรปเริ่มการมีขายพืชกระท่อมทางอินเตอร์เน็ตอย่างแพร่หลาย คนไทยจะนิยมบริโภคใบกระท่อมกันเมื่อใดไม่อาจทราบได้แน่นอน
เมื่อย้อนไปตรวจดูประวัติศาสตร์กฎหมายถึง พ.ศ. ๑๙๐๓ ในสมัยพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ปฐมกษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาในกฎหมายตราสามดวง ว่าด้วยลักษณะโจร ก็ไม่ได้บัญญัติให้กระท่อมเป็นสิ่งผิดกฎหมาย คงมีแต่เฉพาะฝิ่นเท่านั้นที่ห้ามการบริโภค ครอบครองหรือจำหน่าย การที่แพทย์พื้นบ้านได้ใช้กระท่อมเป็นตัวยาสมุนไพรไทย แสดงให้เห็นว่า คนไทยได้ใช้กระท่อมกันมาเป็นเวลานานและใช้กันอย่างแพร่หลายนั่นเอง จากการศึกษาและสอบถามจากประเทศเพื่อนบ้านกับประเทศไทย คือ ลาว เขมร มาเลเซีย อินโดนีเซีย พบว่า พืชกระท่อมที่อยู่ในรูปของ ต้น ใบ ราก ไม่เป็นสิ่งผิดกฎหมายของประเทศเหล่านี้ และประชาชนบางกลุ่มที่นิยมบริโภคในรูปของใบสดเพื่อกระตุ้นในการทำงาน อีกทั้งในข้อตกลงของสหประชาชาติก็ไม่ได้กำหนดให้กระท่อมเป็นสิ่งเสพติดหรือผิดกฎหมาย คงมีประเทศไทยประเทศเดียวเท่านั้นที่กำหนดให้กระท่อมเป็นพืชที่ผิดกฎหมาย นอกจากนี้ พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.ป่าไม้ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้กำหนดให้ต้นกระท่อมเป็นพืชหวงห้าม จะตัดฟันต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงาน ทำให้เกิดปัญหาว่าหากประชาชนมีต้นกระท่อมอยู่ในสวนหรือที่ดินก็จะไปตัดโดยพลการไม่ได้ แต่ขณะเดียวกันการครอบครองกระท่อมก็ผิดกฎหมายตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. ๒๕๒๒
กระท่อมเพิ่งปรากฏเป็นยาเสพติดต้องห้ามตามกฎหมายเป็นครั้งแรกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล (รัชกาลที่ ๘) ซึ่งเหตุผลที่แท้จริงของการออก พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖ เนื่องจากฝิ่นที่รัฐเป็นผู้ผูกขาดผลิตฝิ่นสุก ฝิ่นดิบ มีราคาแพง ทำให้คนหันมาสูบกระท่อมแทนฝิ่น ดังนั้น จึงเห็นได้ว่าแท้ที่จริงการตรา พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ. ๒๔๘๖ และใช้สืบเนื่องมาจนทุกวันนี้มีเหตุผลและหลักการทางการค้าทางภาษีของรัฐ หาใช่เพราะเหตุที่พืชกระท่อมเป็นพืชเสพติดเองไม่ ซึ่งหลักเกณฑ์ที่องค์การอนามัยโลกกำหนดเป็นแนวทางในการพิจารณาเพื่อจัดให้เป็นยาเสพติดที่จะต้องควบคุมนั้นมีดังนี้ เมื่อไม่ได้เสพแล้วก่อให้เกิดอาการขาดยา มีประโยชน์ทางการแพทย์น้อยหรือไม่มีเลย ก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุข ก่อให้เกิดปัญหาทางสังคม ที่มา กระท่อม ยาระงับปวดหรือยาเสพติดเรียบเรียงโดย ผศ.ดร.นิวัติ แก้วประดับ ภาควิชาเภสัชเวทและเภสัชพฤษศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น